10 มหาวิทยาลัยยอดฮิต ที่นักเรียนทุกคนอยากเข้าไปศึกษา
10 มหาวิทยาลัยยอดฮิต ที่นักเรียนทุกคนอยากเข้าไปศึกษา
- มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University)
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang Mai University)
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (King Mongkut’s University of Technology Thonburi)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (Suranaree University of Technology)
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang)
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University)
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Kon Kaen University)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (King Mongkut’S University of Technology North Bangkok)
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (Mahasarakham University)
ขึ้นชื่อว่าประเทศไทยแล้วไม่แพ้ชาติใดในโลก คำนี้ใช้ได้กับทุกวงการของไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งรวมไปถึงวงการการศึกษาด้วย เพราะถ้าดูการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดจากทั่วโลกจะเห็นว่ามีชื่อมหาวิทยาลัยของไทยปรากฏอยู่ในนั้นด้วย โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ Times Higher Education หรือ THE ซึ่งเป็นสถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่เป็นที่ยอมรับอย่างมากแห่งประเทศอังกฤษ จากสถิติในปี 2018 ที่ผ่านมามีชื่อมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับถึง 10 แห่งด้วยกัน และในปี 2019 นี้ มีรายชื่อมหาวิทยาลัยของไทยปรากฏอยู่ในนั้นถึง 14 แห่งกันเลยทีเดียว แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของวงการการศึกษาไทยที่มีความก้าวหน้าอยู่ไม่น้อย จึงสามารถพาชื่อเสียงมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งทยอยไต่อันดับขึ้นมาเป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพระดับโลกได้ สำหรับหลักเกณฑ์ที่ทางสถาบัน THE นำมาใช้ในการพิจารณาให้คะแนนมีหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
- การสอน หมายถึง สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน 30% (Teaching : The Learning Environment)
- งานวิจัย หมายถึง ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย 30% (Research : Volume, Income, Reputation)
- การอ้างอิงงานวิจัย หมายถึง การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้อ้างอิง 30% (Citations : Research Influence)
- ภาพลักษณ์ความเป็นสากล หมายถึง เจ้าหน้าที่ นักศึกษา งานวิจัย 5% (International Outlook : Staff, Students, Research)
- รายได้จากอุตสาหกรรม หมายถึง นวัตกรรมใหม่ที่มหาวิทยาลัยคิดค้นขึ้น 5% (Industry Income : Knowledge Transfer)
10 มหาวิทยาลัยยอดฮิต ที่นักเรียนทุกคนอยากเข้าไปศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University)
อยู่อันดับ 601-800 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 120 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ “โรงศิริราชพยาบาล” ใน พ.ศ. 2431 มาสู่ “มหาวิทยาลัยมหิดล” ในปัจจุบันมหาลัยแห่งนี้ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่มีความหลายหลากของสาขาวิชาการทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวม ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง มหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) ด้วยแนวทางการดำเนินการหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1. การตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนและมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ประเทศชาติ 2. การสร้างองค์ความรู้ใหม่ พร้อมปลูกฝัง Innovation Culture 3. การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ โดยนำแนวคิดจินตปัญญาศึกษามาใช้ เพื่อพัฒนาศักยภาพภายในของตนเอง และ 4. การสร้างวินัยองค์กรที่เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมองค์กร การทำงานเป็นทีม และการสร้างสรรค์องค์ความรู้แบบบูรณาการ
เว็บไซต์ : mahidol.ac.th/th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang Mai University)
อยู่อันดับ 801-1000 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค เมื่อปี พ.ศ.2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จุดประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่มีทุกศาสตร์อยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดการทำงานที่เป็นแบบบูรณาการได้ง่าย และจัดการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสมาเรียนร่วมกัน ทำให้เกิดโอกาสสร้างนวัตกรรมและหลักสูตรใหม่
เว็บไซต์ : www.cmu.ac.th/th
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University)
อยู่อันดับ 801-1000 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็กในภายหลัง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่รับเฉพาะผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น และเปลี่ยนแปลงรับบุคคลทั่วไปผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงในภายหลัง พร้อมทั้งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อปี พ.ศ. 2459 เพื่อบุกเบิก แสวงหาและเป็นคลังความรู้ ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิต วิจัย เป็นแหล่งรวมสติ ปัญญา และบริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมุ่งหวังให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมีคุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม
เว็บไซต์ : www.chula.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (King Mongkut’s University of Technology Thonburi)
อยู่อันดับ 801-1000 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีสถาปนาขึ้นมาจากวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ซึ่งเป็นวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ. 2503 และในปี พ.ศ. 2514 ได้มีการรวมกับวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยเทคนิคโทรคมนาคมเข้าด้วยกัน เป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการวิจัย พัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อสร้างประชาคมไทยที่มีความสุข และมีพลังการแข่งขันในประชาคม และคอยสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคม ถึงผลประโยชน์และ ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อชีวิตและสังคม ตลอดจนความสำคัญของการกำกับ การใช้เทคโนโลยีด้วยสติปัญญา เพื่อการรักษาสภาพแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถาบันการศึกษาต่างๆ โรงเรียนภาคเอกชนและชุมชน
เว็บไซต์ : www2.kmutt.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (Suranaree University of Technology)
อยู่อันดับ 801-1000 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านประสบการณ์ที่หล่อหลอมจากอดีตสู่ปัจจุบันกระทั่งก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งคงอัตลักษณ์ในการผลิตและพัฒนาบัณฑิตนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้มีภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา เพื่อพัฒนาสังคมที่มีความสุขและยั่งยืนและเพื่อตอบสนองแนวทางการพัฒนาประเทศ ด้วยปณิธานอันมั่นคงที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการ สร้างสรรค์นวัตกรรม และยืนหยัดเป็นคู่เคียงของสังคมไทย ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นเจ้าของนวัตกรรม เป็นผู้นําและเป็นต้นแบบนวัตกรรมทางการศึกษาหลากหลายด้าน โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้มุ่งมั่นจะเป็นที่พึ่งของสังคมไทย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม เลิศล้ำวิชาการ เชื่อมประสานสู่สากล
เว็บไซต์ : www.sut.ac.th/2012/index.php
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang)
อยู่อันดับ 1001+ ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังแยกตัวออกมาจากการรวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยเทคนิคโทรคมนาคมเข้าด้วยกันให้เป็นสถาบันเทคโน โลยีพระจอมเกล้า ซึ่งจุดประสงค์ของการแยกตัวออกมาเพื่อการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการวิชาการทางด้าน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และครุศาสตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ โดยต้องการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก มีทั้งหลักสูตรทั่วไปและหลักสูตรภาคสมทบ
เว็บไซต์ : www.kmitl.ac.th/th
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University)
อยู่อันดับ 1001+ ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นของวิวัฒนาการจากการจัดการศึกษาวิชาเกษตรของประเทศให้เป็นระบบโรงเรียนของไทย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2447 ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 ได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม รับผู้จบชั้น ม.3 (เปลี่ยนเป็น ม.6 ในระยะต่อมา) เข้าศึกษาในหลักสูตร 2 ปี เพื่อรับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมกสิกรรม จากนั้นขยายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปสู่ทุกภาค และในปี พ.ศ. 2478 ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมซึ่งต่อมา ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย ชื่อ “วิทยาลัยเกษตรศาสตร์” และกลายเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถาบันที่มีปณิธานมุ่งมั่น ในการสั่งสมเสาะแสวงหา และพัฒนาความรู้ให้เกิดความเจริญงอกงามทางภูมิปัญญาที่เพียบพร้อมด้วยวิชาการ จริยธรรม และคุณธรรม ตลอดจนเป็นผู้ชี้นำทิศทางสืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีของสังคม เพื่อความคงอยู่ ความเจริญ และความเป็นอารยะของชาติ
เว็บไซต์ : www.ku.ac.th
มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Kon Kaen University)
อยู่อันดับ 1001+ ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้การก่อตั้งของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กลับมีการเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้น โดยเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียกได้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งนี้ยึดมั่นในความเป็นเลิศทางวิชาการ มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศอินโดจีน จึงถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งเชื่อมโยงความรู้ทางอินโดจีนอย่างแท้จริง
เว็บไซต์ : www.kku.ac.th
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (King Mongkut’S University of Technology North Bangkok)
อยู่อันดับ 1001+ ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก เริ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2502 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ สังกัดกรมอาชีวศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตช่างฝีมือที่เน้นการปฏิบัติและประสบการณ์จริง ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศยกฐานะโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือขึ้นเป็น “วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ” แต่ในภายหลังในปี พ.ศ. 2514 ได้ให้รวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี และวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี สังกัดกรมอาชีวศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูง และได้รับพระราชทานนามว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษา ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการและส่งเสริมทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และครุศาสตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ โดยแบ่งการบริหารงานออกเป็น 3 วิทยาเขต วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ ใช้ชื่อว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ”จากนั้นในปี พ.ศ. 2528 ให้แยกสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าออกเป็นสถานศึกษา 3 แห่ง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานของแต่ละสถาบัน วิทยาเขตพระนครเหนือ ใช้ชื่อว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิชาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อเป็นผู้พัฒนาและสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสม อันก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
เว็บไซต์ : www.kmutnb.ac.th
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (Mahasarakham University)
อยู่อันดับ 1001+ ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีพัฒนาการมาตามลำดับด้วยเหตุเงื่อนไขของเวลาในการสร้างความพร้อมต่างๆ จนกระทั่งสามารถดำเนินการแยกเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศสำเร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม เมื่อแยกตัวออกมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2537 นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 22 ของประเทศไทย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดสอนหลักสูตรและสาขาวิชาต่างๆ เปิดสอนระดับประถมและมัธยมศึกษาใน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยเปิดสอนในปีการศึกษา 2540 เป็นปีการศึกษาแรกและยังได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโทไปยังวิทยาเขตนครพนมและศูนย์พัฒนาการศึกษาอุดรธานี โดยใช้สอน ระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ในเวลานี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้มีโครงการที่กำลังดำเนินการและจะดำเนินการอีกมาก ทั้งนี้เพื่อผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศชาติและองค์รวมเบื้องปลายต่อไป มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นสถาบันที่มุ่งมั่นในการสั่งสมแสวงหาความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับวิทยาการที่เป็นสากลให้เกิดความงอกงามทางสติปัญญาสามารถพัฒนาตนเองให้เพียบพร้อมด้วยวิชาการ จริยธรรมและคุณธรรม
เว็บไซต์ : www.web.msu.ac.th